Home Fit Trend FOOD FOR FIT เปิดงานวิจัยกาแฟดำประโยชน์ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

เปิดงานวิจัยกาแฟดำประโยชน์ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

โรคหัวใจ คือกลุ่มของโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ อาจหมายถึงโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงที่แสดงถึงความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด และส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์สมอง โดยโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น

โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD or Coronary Heart Disease) เป็นกลุ่มอาการของโรคหัวใจที่ครอบคลุมอีก 3 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 3 ในคนไทยรองจากโรคมะเร็งและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อีกทั้งคำว่าโรคหัวใจในความหมายของคนทั่วไปมักเข้าใจว่า โรคหัวใจคือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่มักพบผู้ป่วยหรือพบในหมู่ญาติ เพื่อนฝูง และคนรู้จัก และเป็นปัญหาอย่างทุกข์ใจอย่างมาก แต่แท้จริงแล้วสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดหัวใจที่มีไขมันมาเกาะสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่า เป็นตะกอนตะกรันในหลอดเลือด (Cholesterol Plague) อันเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด หรือบางครั้งคราบไขมันนี้แตกทำให้เกิดลิ่มเลือดมาอุดตันเฉียบพลัน หรือที่เรียกภาวะ หัวใจวาย หรือ Heart Attack [1]

สาเหตุความเจ็บป่วยของโรคหัวใจ
โรคหัวใจ หรือภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ ของกลุ่มโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจนั้นเกิดจากหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเกิดภาวะลิ่มเลือด ไขมันสะสมและอุดตันการไหลเวียนของเลือด เนื่องมาจากพฤติกรรมความเสี่ยงที่มาจาก
  1. การใช้ชีวิต ไม่ออกกำลังกาย ชอบบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง และเกลือสูงมากเกินไป
  2. สูบบุหรี่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
  3. ความเครียด มีส่วนต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
  4. กรรมพันธุ์ มีความเสี่ยงถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน
  5. มีความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
  6. มีระดับคอเลสเตอรอลสูง คอเลสเตอรอลที่สูงสามารถทำให้เกิดการสะสมในหลอดเลือด
  7. โรคเบาหวาน ส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
  8. ไขมันในเลือดสูง และยังมีปัจจัยอื่น ๆ อันนำไปสู่การป่วยของโรคหัวใจ
และโดยส่วนมากของคนเรานั้น อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากในบางอาการอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ 

การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญมีการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการประเมินจากปัจจัยเสี่ยงที่ประกอบไปด้วย อายุ เพศ ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต การสูบบุหรี่ ภาวะอ้วน รวมไปถึงประวัติครอบครัว พฤติการการใช้ชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย ขาดการรับประทานผัก-ผลไม้ โดยสามารถแยกเป็น

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
  • อายุ ที่มากขึ้น มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดแดงที่จะเกิดการเสียหายและแคบลง รวมไปถึงกล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอหรือหนาขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีอายุ 65 ปีขึ้นไป และหากในผู้ที่มีช่วงอายุนี้เกิดภาวะหัวใจวาย ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้อีกด้วย
  • เพศ ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและมีอาการรุนแรงคือเพศชาย แต่ในเพศหญิงจะมีความเสี่ยงของโรคหัวใจเพิ่มขึ้นหลังวัยหมดประจําเดือน
    • ความเสี่ยงในเพศชาย เนื่องจากระดับเทสโทสเตอโรนต่ำที่อาจส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศลดลงแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงระบบเผาผลาญพลังงานที่เสื่อมลงอีกด้วย
    • ความเสี่ยงในเพศหญิง อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หากดูแลครรภ์ได้ไม่ดี จะก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs หลังคลอดได้ และสามารถส่งต่อพันธุกรรมไปสู่ทายาทได้เช่นกัน อีกทั้งหลังวัยหมดประจําเดือนจะเกิดภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคในหลอดเลือดที่จะหดตัวหรือตีบลงได้
  • ประวัติครอบครัวหรือพันธุกรรม เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ยิ่งในผู้ที่มีเชื้อชาติของคนผิวสี ชาวอเมริกันอินเดียน ชาวฮาวายพื้นเมือง ชาวเม็กซิกัน และชาวเอเชีย ถ้าหากเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง ฯลฯ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
  • มีปัญหาสุขภาพในช่องปาก เนื่องจากในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพของช่องปาก เช่น ฟันและเหงือกไม่แข็งแรง มีฟันผุ เหงือกอักเสบเรื้อรัง อาจมีส่วนทําให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค แล้วทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ระบบกระแสเลือด และต่อไปยังระบบการทำงานของหัวใจได้ง่ายขึ้น และอาจส่งผลทําให้เกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบอีกด้วย
  • กินอาหารทำร้ายสุขภาพ จำพวกอาหารที่มีไขมัน เกลือหรือโซเดียม และน้ำตาล ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ
  • สูบบุหรี่ หรือได้รับมลภาวะเป็นพิษ ด้วยเพราะว่าในควันบุหรี่ ทั้งที่เป็นมือ 1 และมือ 2 (บุหรี่มือ2 คือผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่) ล้วนมีสารที่สามารถทําลายหลอดเลือดแดง กระตุ้นการเกิดโรคหัวใจวาย มีอัตราความเสี่ยงสูงในผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมไปถึงการได้รับฝุ่น ควัน มลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ฝุ่น PM 2.5 สารปรอท ตะกั่ว และควันไฟจากการเผาไหม้ สารพิษ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ สามารถสร้างการอักเสบต่อหลอดเลือดไปจนถึงระดับเซลล์ได้
  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และดื่มในปริมาณมาก สามารถทำให้เกิดระดับไตรกลีเซอไรด์สูงชนิดเรื้อรัง ที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือดสูง ล้วนเป็นปัจจับยที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง มีส่วนทําให้หลอดเลือดแดงแข็งและหนาจนเริ่มตีบตันกีดขวางทางเดินของระบบไหลเวียนโลหิตที่ต้องลำเลียงสารอาหารไปหล่อเลี้ยงหัวใจและเซลล์ในร่างกาย ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตเราได้ในที่สุด
  • คอเลสเตอรอลสูง มีส่วนในการทำร้ายหลอดเลือด ซึ่งหลอดเลือดได้รับการเชื่อมโยงกับภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
  • เป็นโรคเบาหวาน ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วนและความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวหรือเป็นโรคอ้วน ถือเป็นศูนย์กลางของการรวมปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น มีภาวะความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวาน  เป็นต้น
  • ความเครียดเรื้อรัง มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการทําลายหลอดเลือดแดงได้จากการหลั่งสารอะดรีนาลีน และฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา โดยในส่วนของสารอะดรีนาลีนมีส่วนทำให้หัวใจเต้นเร็วและอาจรุนแรงถึงขั้นเต้นผิดจังหวะที่ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และในส่วนของสารคอร์ติซอลนั้นมีส่วนในการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลในระดับที่สูงกว่าปกตินั่นเอง
  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีผลต่อการการสร้างและฟื้นฟูระบบหัวใจและหลอดเลือด เพราะการนอนหลับพักผ่อนที่ดีมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูระบบสมอง อารมณ์ ความจํา และการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกัน หากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ทั้งทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับสมองและประสาทตามมาได้
  • ขาดการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด มีส่วนของการสูบฉีดระบบไหลเวียนเลือด รวมถึงปรับความสมดุลของฮอร์โมนและระบบเผาผลาญ แต่ถ้าหากคุณเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะออกกำลังที่ทำให้คุณต้องเหนื่อยหอบมากเกินไปหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ของคุณก่อน
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ช่วยส่งผลต่อการดูแลป้องกันและรักษาโรคได้ทันท่วงที ซึ่งการตรวจประเมินสุขภาพเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าคุณดูแลสุขภาพได้อย่างดี ไม่มีอาการผิดปกติของร่างกาย พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของคุณด้วยวิธีการที่เหมาะสมสำหรับกับการใช้ชีวิตของคุณ [5]

แต่ตัวเราเองก็ต้องมีความรู้ สังเกตอาการตัวเองว่านั่นคือ สัญญาณเตือนภาวะเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการดูแลป้องกัน ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ



รู้ไหมว่า! นี่คืออาการเริ่มต้นหรือสัญญาณเตือนว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ [2] [3]
  1. หนาวบ่อย หรือมีความรู้สึกหนาว ในผู้ที่เริ่มมีปัญหาเรื่องหัวใจ อาจมีอาการรู้สึกหนาว หรือเกิดความรู้สึกหนาวบ่อยครั้ง
  2. เจ็บแน่นหน้าอก เหมือนมีความรู้สึกเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอกหรืออักเสบในบริเวณทรวงอก อาจมีลักษณะอาการหนักเบาที่แตกต่างกันไป เช่น จะมีอาการแบบแน่น ๆ หนัก ๆ เหมือนมีอะไรมากดทับหรือรัดบริเวณทรวงอกด้านหน้า อาจมีอาการปวดร้าวไปถึงกราม คอ ไหล่ ต้นแขนซ้ายหรือสะบัก จะมีอาการได้ทั้งตอนอยู่เฉย ๆ หรือออกกำลังกาย หรือกำลังมีภาวะตึงเครียด และอาจมีเหงื่อร่วมด้วย ซึ่งอาจแสดงถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนในผู้ที่มีลักษณะอาการเจ็บหน้าอกแบบจี๊ด ๆ แปล๊บ ๆ เหมือนเข็มแทง เวลาหายใจจะรู้สึกเจ็บ หรือหายใจไม่ออก มักจะเป็นจากสาเหตุอื่น
  3. เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เมื่อเทียบกับคนปกติ หรือกิจกรรมที่ตัวเองเคยทำเป็นประจำแล้วไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้ เช่น เคยเดินขึ้นบันไดอาคาร สำนักงาน หรือ สะพานลอยได้ แต่กลายเป็นเดินขึ้นไม่ไหว เหนื่อยหอบง่ายกว่าปกติ ต้องพักก่อน  หรือถ้าในผู้ที่มีภาวะรุนแรง อาจมีอาการเหนื่อยขณะพัก นอนราบไม่ได้ หนุนหมอนสูง อาจแสดงถึงภาวะหัวใจล้มเหลว
  4. หมดสติ หรือ วูบ ไม่รู้สึกตัว เป็นลักษณะของการแสดงอาการสำคัญที่ต้องลำดับต่อว่า เป็นโรคหัวใจ หรือโรคทางสมอง หรืออาจจะแสดงถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง หรือภาวะที่มีปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบอย่างรุนแรงอีกด้วย
  5. ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว แรงหรือไม่สม่ำเสมอ อัตราการเต้นหัวใจปกติอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที อาจแสดงถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  6. ขาหรือเท้าบวม เมื่อใช้นิ้วกดขาดูทั้ง 2 ข้าง เนื้อจะมีลักษณะบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป อาจแสดงถึงภาวะน้ำเกินจากภาวะหัวใจล้มเหลว 

วิธีดูแลป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
การรู้จักวิธีดูแลป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจย่อมดีกว่าขั้นตอนวิธีรักษาโรคหัวใจ ทีนี้เมื่อคุณรู้หลักการสังเกตอาการของโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นกับตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัวในระยะแรกได้แล้วนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี และการตรวจสุขภาพเพื่อยืนยันความชัดเจนจะทำให้คุณแน่ใจในข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ แต่เพื่อการดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยจากโรคหัวใจ คุณสามารถลดความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเป็นโรคหัวใจได้ทันที ด้วยการปรับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังนี้ [5] [6]
  • เลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์
  • ออกกําลังกายสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
  • ดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • จัดการความเครียด
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
และยังมีเทรนด์ฮิตที่ช่วยดูแลสุขภาพของหัวใจ ก็คือการดื่มกาแฟดำประโยชน์ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ อีกด้วย



รู้ไหมว่า กาแฟดำประโยชน์คือเครื่องดื่มประจำวันของใครหลายคน และจัดเป็นเครื่องดื่มกาแฟดำที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก หากดูจากสถิติในแต่ละปี คอกาแฟทั่วโลกดื่มกาแฟดำเฉลี่ยสูงถึงคนละ 42.6 ลิตร ซึ่งหากมองในด้านโภชนาการ กาแฟดำที่ไม่ได้ใส่เสริมเติมแต่งส่วนผสมอย่างอื่น เช่น ครีมเทียมและน้ำตาลทราย จัดเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่ำ โดยกาแฟดำประโยชน์ 1 แก้ว (240 มล. หรือ 8 ออนซ์) มีพลังงานน้อยกว่า 5 กิโลแคลอรี และมีคุณค่าทางโภชนาการโดยมีสารสำคัญ เช่น คาเฟอีน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม กรดโฟลิก และสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย แต่สารสำคัญในกาแฟดำที่เรารู้จักกันมากที่สุดก็คือคาเฟอีน ที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบประสาทและสมอง สร้างความสดชื่น ตื่นตัว กระปรี้กะเปร่า ได้เป็นอย่างดี แต่ปริมาณคาเฟอีนรวมถึงสารสำคัญต่าง ๆ ในกาแฟดำจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับสายพันธุ์และคุณภาพของกระบวนการผลิต ซึ่งหากเปรียบเทียบกาแฟในปริมาณที่เท่ากัน กาแฟสำเร็จรูป มีคาเฟอีน 24 มิลลิกรัม ต่อ 30 มิลลิลิตร ส่วนกาแฟเอสเพรซโซ่ มีคาเฟอีน 64 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร อีกทั้งในปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นถึงข้อดีต่อสุขภาพจากการดื่มกาแฟดำว่า การดื่มกาแฟดำในปริมาณที่เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อีกทั้งยังสามารถลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงถึง 21% [7]



งานวิจัยกาแฟดำประโยชน์ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
Heart Health บทความโดยโรงพยาบาลพระรามเก้า บอกว่านอกจากคาเฟอีนในกาแฟดำ ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ อีกที่อยู่ในกาแฟดำ เช่น แมกนีเซียม วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินบี12 โซเดียม แมงกานีส โพแทสเซียม แอล-คานีทีน ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสารสำคัญอยู่ในเมล็ดกาแฟดำมากมายที่ล้วนมีประโยชน์กับสุขภาพร่างกายแตกต่างกันออกไป จากการศึกษายังพบว่า กาแฟดำเท่านั้น ที่ไม่ได้หมายความรวมไปถึงกาแฟที่มีส่วนประกอบของนมและน้ำตาล ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และลดอัตรการเสียชีวิต เมื่อดื่มกาแฟดำปริมาณ 2-4 แก้ว/วัน (ที่ดีที่สุดคือ 3.5 แก้ว/วัน) ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มกาแฟดำ และยังมีอีกหลายงานวิจัยยืนยันว่าการดื่มกาแฟดำในปริมาณที่เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และยังสามารถลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงถึง 21% [7] [9]

ในปี 2021 มีการศึกษาจาก Biobank (คลังข้อมูลชีวภาพ หรือฐานข้อมูลชีวการแพทย์ขนาดใหญ่ที่จัดเก็บตัวอย่างทางชีววิทยาสำหรับการวิจัย และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการวิจัยทางการแพทย์) เรื่องการดื่มกาแฟดำ โดยการดื่มกาแฟดำ เป็นประจำ 0.5 - 3 แก้ว/วัน มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงหรืออัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟดำ และนอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาอีกมากที่พบว่าการดื่มกาแฟดำ 3 แก้ว/วัน มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการดื่มกาแฟดำมากขึ้นนั้นดีต่อสมอง แต่สิ่งที่คอกาแฟดำต้องตระหนักก็คือ กาแฟแต่ละชนิด มีคาเฟอีนไม่เท่ากัน จึงควรบริโภคกาแฟดำในปริมาณที่พอดี [8]

นักวิจัยต่างใช้ข้อมูลจาก UK Biobank ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลด้านอาหารและสุขภาพจากผู้อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรมากกว่า 500,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 69 ปี โดยมุ่งเน้นผู้เข้าร่วมที่ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับอาหารอย่างน้อยหนึ่งข้อ ไม่รวมผู้ที่มีภาวะหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว หรือมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับการบริโภคกาแฟหรือชา และมีการวิเคราะห์ขั้นตอนสุดท้ายด้วยการตรวจสอบการบริโภคคาเฟอีนของผู้เข้าร่วม 172,315 คน และการบริโภคกาแฟและชาของผู้เข้าร่วม 188,091 คน โดยนักวิจัยได้ทำการคัดแยกความแตกต่างระหว่างตัวเลือกปกติและแบบไม่มีคาเฟอีน และประเมินการบริโภคตามปกติของผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถาม โดยหาค่าเฉลี่ยของคำตอบจากแบบสอบถามด้านอาหารหลายรายการ

ผู้ทำแบบสอบถามถูกจัดหมวดหมู่ตามปริมาณการดื่มกาแฟและชา โดยเฉลี่ยโดยประมาณ 0, 1, 2, 3, 4, 5 หรือเครื่องดื่มหรือมากกว่านั้น/วัน และปริมาณคาเฟอีนทั้งหมดโดยประมาณ/วัน ในหน่วยมิลลิกรัม (มก.) จากการดื่มกาแฟและชาปกติ โดยมีตั้งแต่ 0 ถึง 100 มก. /วัน ไปจนถึง มากกว่า 400 มก. /วัน 

ในผลการศึกษานี้ยังได้วิเคราะห์สารเมตาบอไลต์ 168 ชนิด (ซึ่งเป็นสารที่ถูกผลิตขึ้นในระหว่างที่ร่างกายเริ่มกระบวนการของระบบการเผาผลาญ) เพื่อระบุสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคกาแฟ ชา คาเฟอีน และภาวะของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้เข้าร่วมกลุ่มย่อยจำนวนมาก

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการบริโภคกาแฟและคาเฟอีนในระดับปานกลาง มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงในการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มกาแฟดำ ขนาด 8 ออนซ์ 3 แก้ว หรือคาเฟอีน 200–300 มก. /วันสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง 48.1% หรือ 40.7% ของการเกิดโรคในกลุ่มโรคหัวใจ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟดำ หรือผู้ที่บริโภคกาเฟอีนในปริมาณที่น้อยกว่า 100 มก. /วัน

นักวิจัยยังระบุได้ถึงสารเมตาบอไลต์ 81 ถึง 97 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ ชา และคาเฟอีน ที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ และค้นพบข้อสรุปที่ว่าการดื่มกาแฟดำและการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่พอดีเป็นประจำ อาจมีส่วนช่วยปกป้องสุขภาพร่างกายจากโรคต่าง ๆ ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ [10]
 
ที่มา
[1] หลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยใกล้ตัว / บทความสุขภาพ / โรงพยาบาลปิยมหาราชการุณย์
[2] สัญญาณเตือนกลุ่มโรคหัวใจ 
[3] อาการ สาเหตุ การป้องกัน เเละใครเสี่ยง? / บทความสุขภาพ / โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
[4] การประเมินความสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด / โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับปีงบประมาณ 2559 ภาตใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
[5] “สัญญาณเริ่มต้นสู่อันตราย” ภาวะเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
[6] โรคหัวใจเกิดจากอะไร สาเหตุ อาการ การวินิจฉัยและแนวทางการรักษา
[7] ข้อดี-ข้อเสียของกาแฟ / คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
[8] ผลการวิจัยเผย ดื่มกาแฟมากกว่า 1 แก้วต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดและภาวะสมองเสื่อม / สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
[9] HEART COFFEE HEALTH  บทความโดยโรงพยาบาลพระรามเก้า
[10] healthline การบริโภคกาแฟในระดับปานกลางเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคหัวใจและโรคเมตาบอลิซึม
Other Articles