Home Fit Trend FOOD FOR FIT เปิดงานวิจัย กาแฟดำ ทางเลือกเพื่อสุขภาพ ของคนรุ่นใหม่

เปิดงานวิจัย กาแฟดำ ทางเลือกเพื่อสุขภาพ ของคนรุ่นใหม่

Caffeine isn’t a drug, it’s a vitamin
คาเฟอีนไม่ใช่ยา แต่มันคือวิตามิน


วลีนี้ที่เห็นใครหลายคนหยิบยกมาเป็นแคปชั่นเก๋ ๆ ในวันที่ออกไปดื่มกาแฟ ทั้งแบบสไตล์คาเฟ่ฮอปปิ้งหรือคอฟฟี่อะโฮลิค ที่กระดกกาแฟวันล่ะหลายแก้วอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะต้องเติมสารคาแฟอีนเข้าไปในร่างกายอยู่เป็นประจำทุกวัน และดูเหมือนว่าจะกาแฟจะไม่เคยถูกลดความนิยมตามกาลเวลาเหมือนเครื่องดื่มอื่นๆ ทั่วไป ในกระแสแต่เป็นเครื่องดื่มที่มีอิทธิพลอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะยุคสมัยใด กาแฟก็มีความเกี่ยวข้องกับคนเราในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ วิถีชีวิต หรือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  และว่ากันว่าประวัติศาสตร์ของกาแฟนั้นมีอายุยืนยาวพอ ๆ กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ จวบจนปัจจุบันที่กาแฟดำกลายเป็นเครื่องดื่มประจำตัวของประชากรส่วนใหญ่ เพราะด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ อย่าง “กาแฟดำช่วยเผาผลาญ” ถูกจัดให้เป็นกาแฟเพื่อสุขภาพแห่งยุคสมัย บทความนี้จะพาคอกาแฟหรือใครๆ ที่สนใจหรือเริ่มมองหากาแฟเพื่อสุขภาพแก้วโปรดสักแก้ว เรามาทำความรู้จักกับกาแฟดำ และงานวิจัยที่จะทำให้คุณอึ้งในประโยชน์สารพัน

กาแฟมาจากไหน? มาทำความรู้จักกันหน่อย
[1] การค้นพบกาแฟครั้งแรกนั้นมีเรื่องเล่าหลากหลายตำนาน บ้างว่า กาแฟถูกค้นพบครั้งแรกโดยเด็กเลี้ยงแพะชาวอาบิสซีเนีย (ประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน) ชื่อคาลดี จากการสังเกตพบว่า แพะดูกระปรี้กระเปร่าขึ้นเมื่อกินผลไม้สีแดงของต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งก็คือต้นกาแฟนั่นเอง หรือจะเป็นเรื่องของบุรุษชื่อโอมาร์ที่ถูกเนรเทศออกจากเมืองโมชา ได้ค้นพบและกินกาแฟเป็นอาหารจนสามารถรอดชีวิตกลับมายังเมืองได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลสรุปได้ว่าตำนานส่วนใหญ่ยืนยันถึงถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอธิโอเปียเป็นหลัก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15 ก่อนที่กาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มในหมู่ประชาชน กาแฟส่วนใหญ่เป็นของรับประทานทางศาสนาของกลุ่มผู้นับถือนิกายซูฟี โดยการเคี้ยวเมล็ดกาแฟ เพื่อใช้ขจัดความง่วงในระหว่างการดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงกลางคืน และเพื่อใช้เป็นยาเสริมความสามารถในการเข้าถึงพระเจ้า 

นอกจากนี้ กาแฟ ยังเคยถูกตีตราว่าเป็นเครื่องดื่มนอกรีต เพราะก่อนที่จะเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก แต่ก่อนกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่นิยมของชาวมุสลิม แต่นอกจากความขัดแย้งทางศาสนาคริสต์และอิสลาม ทำให้ “กาแฟ” ถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มของคน “นอกรีต” หรือเครื่องดื่มของซาตาน ที่มีสถานะตรงกันข้ามกับเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาคริสต์อย่าง “ไวน์” แต่เพราะรสชาติเข้มข้นไปโดนใจ พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 เป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์ในสมัยนั้นได้มีโอกาสลิ้มรสชาติของกาแฟ จนเกิดความรู้สึกติดอกติดใจกับความอร่อยจนประกาศเลิกแบนกาแฟโดยทันที
 

เมล็ดกาแฟมีสายพันธุ์อะไรบ้าง
เดิมทีเป็นพืชป่าจนกระทั่งได้ถูกนำมาปลูกในดินแดนอาระเบีย ก่อนจะแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และอินเดีย เป็นต้น สายพันธุ์กาแฟนั้นมีอยู่ 2 สายพันธุ์หลักๆ จากที่มีมากมายหลากหลายกาแฟเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณทวีปแอฟริกา ได้แก่ คอฟเฟ่ คาเนโฟรา (Coffea Canephora) หรือชื่อในวงการที่เราๆ คุ้นหูคือ คอฟเฟ่ โรบัสตา (Coffea Robusta) ซึ่งมีต้นกำเนิดบริเวณภาคกลางและตะวันตกของแอฟริกา และคอฟเฟ่ อาราบิกา (Coffea Arabica) สายพันธุ์นี้นั้นมีต้นกำเนิดในเอธิโอเปียและเยเมน  

ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย คือ สายพันธุ์อาราบิกาก็มีการดูแลรักษายากกว่า อ่อนแอทั้งต่อศัตรูพืชและโรค และยังให้ผลผลิตน้อยกว่าสายพันธุ์โรบัสตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบโดยชาวยุโรปในปลายศตวรรษที่ 19 มีรสชาติขมกว่า และปลูกมากในหลายประเทศทั้งในละตินอเมริกา อินเดีย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามและไทย [1] กาแฟทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ได้กลายเป็นกาแฟสายพันธุ์สำคัญที่ถูกใช้ทางการค้านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 โดยสายพันธุ์อาราบิกาจะเป็นสายพันธุ์แรกที่เข้าสู่ระบบการค้า ตามมาด้วยสายพันธุ์โรบัสตาในศตวรรษที่ 20

จุดเริ่มต้นของวันฒนธรรมกาแฟดำ และกาแฟเพื่อสุขภาพ

กาแฟดำ คืออะไรแตกต่างจากกาแฟทั่วไปอย่างไร
Black Coffee หรือกาแฟดำ คือการนำเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วและบด ผ่านน้ำร้อนอย่างเดียว โดยไม่ผสมไซรัปหรือนมใดๆ สามารถดื่มได้ทั้งแบบร้อน และแบบเย็นที่เพิ่มเพียงน้ำแข็ง น้ำเปล่าเท่านั้น โดยเมนูกาแฟดำนี้ สามารถแบ่งออกมาเป็นเมนูกาแฟต่างๆ อีกมากมาย เช่น เมนูเอสเพรสโซ (Espresso), เมนูอเมริกาโน่ (Americano), เมนูลองแบล็ค (Long Black Coffee) และเมนูกาแฟ Lungo แต่โอยั๊วะไม่นับว่าเป็นกาแฟดำ เพราะมีการใช้ผงกาแฟโบราณ ที่ต่างจากกาแฟดำ หรือโอเลี้ยงก็เป็นกาแฟดำที่ใส่น้ำตาลนั่นเอง

เจาะงานวิจัย กาแฟดำประโยชน์เยอะ ที่สุดของกาแฟเพื่อสุขภาพ
[2] จากบทความรวบรวมงานวิจัยเรื่อง “กาแฟเพื่อสุขภาพ Coffee for health” ฝ่ายโภชนาการและสุขภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุไว้ว่า แม้ว่ากาแฟจะช่วยให้ร่างกายสดชื่น แต่กาแฟเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะกาแฟเย็น มีพลังงานค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานที่ร่างกายควรได้รับจากของว่าง ซึ่งไม่ควรเกิน 10% หรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรีต่อ 1 วัน 

ทั้งนี้เนื่องจากส่วนผสมหลักในกาแฟที่ซื้อได้ทั่ว ๆ ไป คือ นํ้าตาล นม และนมข้นหวาน ดังนั้นผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจําอาจต้องคํานึงถึงผลเสียต่อสุขภาพที่จะตามมาจากส่วนผสมต่างๆ โดยเฉพาะจากนํ้าตาล ซึ่งสูงถึง 7-8 ช้อนชา ต่อแก้ว ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นเประจําควรปรับลดปริมาณการรับประทานหรือขนาด (portion size) รวมถึงเลือกส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมาทดแทน เช่น นมไขมันตํ่า และสารให้ความหวานทดแทน นํ้าตาล หรืออาจเลือกดื่มกาแฟดําที่ไม่มีส่วนผสมของ นํ้าตาล เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากกาแฟอย่างเต็มที่ 

ในเมล็ดกาแฟมีสารสำาคัญหรือสารออกฤทธ์ทางชีวภาพหลายชนิด สารสําคัญที่มีผลต่อสุขภาพและพบมากใน เมล็ดกาแฟ ได้แก่คาเฟอีน (caffeine) และกรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid)

[3] คาเฟอีน (caffeine) เป็นสารที่มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มระดับนํ้าตาลในเลือด กระตุ้นการเต้นของหัวใจ กระตุ้นระบบ ประสาทส่วนกลางส่งผลให้นอนไม่หลับ ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟแต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกัน สายพันธุ์โรบัสต้า มีคาเฟอีน 2.2% และอาราบิก้ามีคาเฟอีน 1.2% ของเมล็ดแห้ง ส่วนกาแฟสด 1 แก้ว (8 ออนซ์หรือ 240 มิลลิลิตร) มีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 130-282 มิลลิกรัม(McCusker et al., 2003) 

กรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid) เป็นสารกลุ่มหนึ่งที่ให้รสขมและฝาดในกาแฟ จัดอยู่ในสารประกอบฟีนอลที่พบได้ในพืช (polyphenol compounds)เกิดจากปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างกรดอินทรีย์และแอลกอฮอล์ (esterification) ระหว่างกรดควินิก (quinic acid) และกรดคาเฟอิก (caffeic acid) ในเมล็ดกาแฟส่วนใหญ่ ปัจจุบันกรดคลอโรจีนิกถูกนําไปใช้เป็นสารเสริมสุขภาพ (functional food) เนื่องจากมีคุณสมบัตช่วยลดระดับน้ำตาล ต้านการอักเสบ และลดไขมัน (Meng et al.,2013) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกาแฟสายพันธ์อาราบิก้าหรือโรบัสต้าก็สามารถนำมาคั่วบดและทำเป็นกาแฟดำได้ทั้งหมด จึงเป็นข้อยืนยันได้ว่ากาแฟดำถูกจัดให้เป็นกาแฟเพื่อสุขภาพโดยแท้จริง
 

ประโยชน์ของกาแฟดำต่อสุขภาพ จากงานวิจัย

1. กาแฟดำช่วยเผาผลาญ จัดเป็นกาแฟเพื่อสุขภาพ [4]
เพราะกาแฟดำให้พลังงานน้อย แต่จะกาแฟดำช่วยเผาผลาญไขมันได้ดี โดยจะทำให้ไขมันเกิดการแตกตัวและสลายได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หากคุณกำลังลดน้ำหนักและควบคุมแคลอรี กาแฟดำจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะกาแฟดำมีส่วนผสมเพียงสองอย่าง ได้แก่ กาแฟ และน้ำ จึงให้พลังงานค่อนข้างต่ำ โดยกาแฟดำในปริมาณ 240 มิลลิลิตรอาจให้พลังงานแค่ 2 กิโลแคลอรีเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มอื่นๆ รวมถึง กาแฟนม ชานม ถ้าหากเติม นม หรือ น้ำตาล ลงไป ปริมาณพลังงานที่ได้รับก็จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพออ่านถึงพารากราฟนี้หลายๆ คนจะรู้ได้ทันทีว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมดื่มกาแฟเย็นที่เติมนมข้นหวาน นมข้นจืด และน้ำเชื่อมกลิ่นต่าง ๆ จึงทำให้ได้รับพลังงานมากกว่าการดื่มกาแฟดำ รวมถึงบางคนยังชอบดื่ม กาแฟปั่น ซึ่งหากต้องการให้รสชาติมีความอร่อยกลมกล่อมจะต้องใส่ส่วนประกอบเสริมความหวานในปริมาณที่มาก ทำให้ได้รับน้ำตาล ไขมัน และพลังงานเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เมื่อดื่มเป็นประจำก็อาจทำให้น้ำหนักขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงของโรคบางชนิดได้ เห็นได้ว่าหลายๆ คนที่งดรับประทาน ชา กาแฟโบราณไปสักเดือนน้ำหนักก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้ คาเฟอีน ใน "กาแฟดำ" จะช่วยเร่งการทำงานของระบบเผาผลาญ ซึ่งเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานส่วนเกินและนำไขมันสะสมไปใช้มากขึ้นด้วย 

โดยงานวิจัยของ Harvard TH Chan School of Public Health ค้นพบว่า การดื่มกาแฟ 4 ถ้วยต่อวันสามารถลดไขมันในร่างกายได้ประมาณ 4% จากการทดลองในกลุ่มของผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินเป็นเวลา 24 สัปดาห์

นอกจากคาเฟอีนจะช่วยเร่งการเผาผลาญไขมัน นักวิจัยยังพบอีกว่า คาเฟอีนสามารถลดความอยากอาหารลงได้จากการทดลองพบว่า ผู้เข้าทดลองที่ได้รับคาเฟอีนในช่วง 30 นาที ถึง 4 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร จะอิ่มท้องเร็วขึ้น และกินอาหารน้อยลงโดยอัตโนมัติ

กาแฟดำจึงเป็นตัวช่วยที่ดีต่อการออกกำลังกายเพื่อการลดน้ำหนัก โดยเฉพาะการออกกำลังกายรูปแบบคาร์ดิโอ เช่น เต้น วิ่ง ปั่นจักรยาน เป็นต้น ที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจไปแตะที่ 60-70% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจต่อนาที (MPHR) ซึ่งเป็นอัตราที่ช่วยลดไขมันส่วนเกินได้ดีที่สุด เพราะร่างกายจะดึงพลังงานจากไขมันส่วนเกินมาใช้

2. กาแฟดำช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย 
"กาแฟดำ" จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายได้ หากคุณนั้นเป็นคนที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำ ผลจากการทดลองที่แบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 
  • คนดื่มเครื่องที่ไม่มี คาเฟอีน 
  • คนดื่มกาแฟดีแคฟหรือกาแฟคาเฟอีนต่ำ 
  • คนดื่ม กาแฟ แบบปกติ 
  • คนดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นที่มี คาเฟอีน 

เพื่อวัดประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ผลการทดลองชี้ว่ากลุ่มคนที่ดื่มกาแฟแบบปกติและคนที่ดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นที่มีคาเฟอีนมีประสิทธิภาพความทนทานในการออกกำลังกายสูงกว่าคนอีกสองกลุ่มที่เหลือ เพราะการดื่มกาแฟดำก่อนออกกําลังกายจะไปช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนอะดรีนาลินให้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลโดยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้ดีขึ้นขณะออกกำลังกาย และยังสั่งให้ร่างกายไปดึงเอาไขมันมาใช้เป็นพลังงาน โดยเก็บตุนพลังงานจากน้ำตาลไว้ใช้ในระยะต่อไปในการออกกำลังกายได้ 

ร่างกายจึงค่อย ๆ เผาผลาญพลังงานเป็นระยะแบบนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กล้ามเนื้อคงความแข็งแรงไว้ได้ รู้สึกมีพละกำลังนานขึ้น สามารถต้านความรู้สึกเหนื่อยล้าหรือปวดเมื่อยระหว่างการออกกำลังกายได้ ร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในแง่ของความทนทานมากขึ้นประมาณ 12% จึงดีต่อการออกกำลังที่ใช้เวลานาน ๆ เช่น เดิน, วิ่ง, ปั่นจักรยาน เป็นต้น และการออกกำลังกายรูปแบบเวทเทรนนิ่ง โดยแนะนำให้ดื่มกาแฟดำ 1 แก้ว ก่อนออกกำลังอย่างน้อย 30 นาที (ปริมาณคาเฟอีนประมาณ 75-90 มิลลิกรัม)

3. กาแฟดำให้สารต้านอนุมูลอิสระ 
ที่มากกว่าเครื่องดื่มหรืออาหารบางชนิด คนที่ไม่ดื่มกาแฟอาจมองว่า กาแฟ นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แต่ในทางกลับกัน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่ากาแฟมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ค่อนข้างสูง ซึ่งสารชนิดนี้มีสรรพคุณชะลอการเสื่อมของเซลล์ ต้านการอักเสบ และอาจลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังบางชนิดได้

การดื่ม "กาแฟดำ" ช่วยให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการดื่มกาแฟนม เพราะงานศึกษาชิ้นหนึ่งได้ทดลองเติมนมลงในชาที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ โพลีฟีนอล (Polyphenols) และพบว่าการดื่มชาที่มีส่วนผสมของนมลดการดูดซึมสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล จึงทำให้ร่างกายไม่ได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเต็มที่

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และสารต้านอนุมูลอิสระ คล้ายกับชา ดังนั้นการดื่ม กาแฟ ที่มีนมเป็นส่วนประกอบจึงอาจลดการดูดซึมสารต้านอนุมูลอิสระได้เช่นกัน แต่มีข้อจำกัดที่สารต้านอนุมูลอิสระในชาและ กาแฟเป็นคนละชนิดกัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการดูดซึม "สารต้านอนุมูลอิสระ" ในกาแฟโดยตรงเพื่อยืนยันถึงข้อดังกล่าวต่อไป

4. กาแฟดำช่วยผ่อนคลายความเครียด 
เพราะกาแฟดำจะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ที่ช่วยกระตุ้นฮอร์โมน เซโรโทนินหรือโดพามีน ให้ความรู้สึกบรรเทาอาการเหนื่อยล้า คลายความเครียดสะสมได้ ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟที่เหมาะสมสามารถช่วยลดอาการหงุดหงิด อารมณ์ซึมเศร้า รวมถึงความเครียดได้ การดื่มกาแฟจึงทำให้ผู้ดื่มรู้สึกพึงพอใจและมีความสุข โดยมีรายงานผลวิจัยที่ระบุว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว จะสามารถช่วดลดความเครียดได้ประมาณ 15% แต่ถ้าหากดื่มถึงวันละ 4 แก้ว ก็จะช่วยลดความเครียดได้ถึง 20%

5. กาแฟดำช่วยบรรเทาอาการปวดศรีษะ 
ในกาแฟจะมีคาเฟอีน ที่ทำหน้าที่ในการช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ดี รวมไปถึงอาการเมาค้างอีกด้วย 

6. กาแฟดำช่วยชะลอวัย 
ในกาแฟดำที่ไม่มีการเพิ่มนม น้ำตาลต่าง ๆ นั้นจะมีสารที่ช่วยทำให้ออกไซด์แตกตัว ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในร่างกาย ลดการสะสมของออกซิเจนที่มีมากเกินไป จึงทำให้ร่างกายกระชับ ผิวพรรณดูเต่งตึง ป้องกันการเกิดริ้วรอยได้อีกด้วย

7. กาแฟดำช่วยกระตุ้นความจำ
จากผลการวิจัยจากภาครังสีวิทยาของอเมริกาเหนือกล่าวว่า หากดื่มกาแฟ 2 แก้วต่อวัน จะสามารถพัฒนาความจำ และปฏิกิริยาตอบโต้ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับการวิจัยของอีกสถาบันหนึ่งที่บอกว่า ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป หากดื่มกาแฟมากกว่า 3 แก้วต่อวัน จะมีความจำที่ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ หรือดื่มกาแฟน้อยกว่านี้

ส่วนมหาวิทยาลัยเซาท์ฟรอริด้าก็เผยว่า คนอายุล่วงเข้าวัยกลางคน ควรดื่มกาแฟประมาณ 4-5 แก้วต่อวัน เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมน GCSF สารที่ช่วยลดความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ด้วยค่ะ
 

เปิดงานวิจัยกาแฟดำมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้

1. ลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับหัวใจ [5]
ในกาแฟจะมีวิตามินบี “นิโคติน” ที่มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว จึงทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และช่วยลดความเสี่ยงภาวะที่จะเกิดไขมันในเส้นเลือดสูงอีกด้วย

[6] มีการทดลองในผู้หญิง 83,076 คน พบว่าการดื่มกาแฟ 4 แก้วขึ้นไปในแต่ละวันช่วยทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองลดลง 20% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม และหากดื่ม 2 แก้วขึ้นไปต่อวัน และลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้ 11% โดยไม่พบความเกี่ยวข้องดังกล่าวกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ เช่น ชาและโซดา ผลลัพธ์เฉพาะกาแฟเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าส่วนประกอบในกาแฟนอกเหนือจากคาเฟอีนอาจมีส่วนช่วยเช่นกัน

[7] และผู้หญิงจำนวนมากกว่า 37,514 คนสรุปว่าการดื่มกาแฟในปริมาณปานกลาง 2-3 แก้วต่อวันสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ถึง 21%
 
 

2. ลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่ว 
จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2002 เผยว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟ 4 แก้วต่อวัน ทำให้โอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีลดลงประมาณ 25% เช่นเดียวกับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ที่บอกว่า ผู้ชายที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วยเช่นกัน
 

3. ลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2
[8] จากการศึกษาของภาคการเกษตรและเคมีอาหารของสหรัฐอเมริกาเผยว่า คนที่ดื่มกาแฟดำเป็นประจำ จะมีโอกาสลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 50% เนื่องจากคาเฟอีนมีคุณสมบัติช่วยยับยั้ง hIAPP และโพลีเปปไทด์ ตัวการก่อให้เกิดโปรตีนผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

[9] แม้ว่าการบริโภคคาเฟอีนจะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ในระยะสั้น แต่การศึกษาในระยะยาวแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม โพลีฟีนอลและแร่ธาตุ เช่น แมกนีเซียม ในกาแฟอาจปรับปรุงประสิทธิภาพของอินซูลินและการเผาผลาญกลูโคสในร่างกาย

ในการวิเคราะห์ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 จำนวน 45,335 คนที่ติดตามมาเป็นเวลา 20 ปี พบว่าหากลองดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานลดลง เมื่อเทียบกับการไม่ดื่มกาแฟ คิดเป็นสัดส่วนความเสี่ยงลดลงอยู่ระหว่าง 8% หากดื่ม 1 แก้วต่อวัน และ 33% สำหรับ 6 แก้วต่อวัน
 

4. ลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง
มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า การดื่มกาแฟวันละ 2-5 แก้วต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับได้ด้วย โดยประสิทธิภาพของคาเฟอีน จะช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์ผิดปกติ และกำจัดสารพิษที่ร่างกายได้รับได้ในระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งจากวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (รวบรวมโดย Harvard T.H. CHAN)  [10] ระบุว่า กาแฟอาจส่งผลต่อการยับยั้งการพัฒนาของมะเร็ง ตั้งแต่การเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งไปจนถึงการตายของเซลล์ ตัวอย่างเช่น กาแฟอาจกระตุ้นการผลิตกรดน้ำดีและเร่งการย่อยอาหารผ่านลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถลดปริมาณสารก่อมะเร็งที่เนื้อเยื่อลำไส้ได้

มีโพลีฟีนอลหลายชนิดในกาแฟที่มีคุณสมบัติป้องกันการเติบโตของเซลล์มะเร็งในการศึกษาในสัตว์ทดลอง กาแฟยังสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งหลายชนิด คาเฟอีนยังมีส่วนช่วยหยุดกระบวนการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งด้วย 
 

5. ลดความเสี่ยงเป็นโรคพาคินสัน
สถาบันการแพทย์อเมริกันได้ทำการวิจัยและพบว่า คาเฟอีนในกาแฟมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงเป็นโรคพาคินสัน โดยผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้วเป็นประจำทุกวัน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพาคินสันได้ถึง 25%
 

6. ลดโอกาสเป็นโรคเกาต์
สำหรับคนที่กลัวตัวเองจะเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ดื่มกาแฟประมาณ 2-3 แก้วต่อวันอย่างต่อเนื่อง เพราะผลการวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งหนึ่งยืนยันแล้วว่า คาเฟอีนมีส่วนช่วยบรรเทาการอักเสบของข้อ เนื่องมาจากกรดยูริกที่เกินขนาดอย่างได้ผล และคนที่ดื่มกาแฟ 6 แก้วต่อวัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ได้ถึง 60% เลยค่ะ
 

7. ลดความเสี่ยงการเป็นโรคตับต่าง ๆ
[7] เพราะในกาแฟดำ มีสารของกลุ่มไดเทอร์ปีน เช่น คาเฟสตอล (Cafestol) และคาห์วีออล (Kahweol) สารเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่กำจัดสารพิษ และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์  ที่ไปกระตุ้นให้เกิดพิษ จากภายนอกร่างกาย ช่วยส่งผลดีต่อตับ
 

นอกจากสารของกลุ่มไดเทอร์ปีนแล้ว ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านอักเสบ ที่ช่วยลดการผิดปกติของตับ อีกทั้งสารคาเฟอีนในกาแฟ นอกจะทำให้สมองตื่นตัว และคลายความง่วงได้แล้ว ยังสามารถลดการเกิดภาวะพังผืดของตับ และภาวะตับแข็งได้ ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี, ไขมันพอกตับ, ลดการเกิดพังผืดในตับ และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
 

ดื่มกาแฟดำตอนไหนเหมาะสมที่สุด?

1. ดื่มกาแฟดำหลังอาหารเช้าได้ผลดีกว่า
[8] ข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ลงในเฟซบุ้กส่วนตัวว่า “คุณภาพของการนอนเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้านอนไม่ดีเรื้อรังเป็นเวลานานจะส่งผลไปจนกระทั่งถึงการที่ทำให้ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน มีโรคอ้วน เบาหวาน ตามมา และยังได้รับการพิสูจน์ชัดเจนงานวิจัยทางการแพทย์แล้วว่าทำให้มีโปรตีนไม่ดีชนิดบิดเกลียว (misfolded protein) สะสมในเนื้อสมองสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดมีโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆได้ทั้งหมด” 

ด้วยเหตุนี้กาแฟจึงเข้ามาเป็นตัวช่วยในส่วนนี้เพื่อทำให้ยืนหยัดอยู่ได้และกระตุ้นไม่ให้อ่อนเพลีย ทั้งนี้ในตัวกาแฟเองเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยสุขภาพและลดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดจนกระทั่งถึงมะเร็ง (จากบทความสุขภาพหรรษา เรื่องกาแฟ โดยหมอดื้อ)  แต่การดื่มกาแฟนั้นยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อน้ำตาลในผลลือด  
ตัวอย่างเช่น ขนาดบริโภค 62 มิลลิกรัมของคาเฟอีนต่อ 100 ซีซี ในถ้วยเดียว หรือขนาด 100 ถึง 400 มิลลิกรัม ในถ้วยเดียวนั้น จะมีผลทำให้กระบวนการจัดการน้ำตาลในเลือด ยิ่งได้รับประทานอาหารต่อจากการดื่มกาแฟ และเป็นที่น่าเกรงกันว่าการดื่มกาแฟหลังจากที่ไม่ได้นอนมาระยะหนึ่งหรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ อาจจะเกิดผลเสียสะสมขึ้นไปอีก 

งานวิจัยการศึกษาในระดับลึกอาจเป็นไปได้ว่า ภาวะผิดปกติของการจัดการระดับสมดุลของน้ำตาลและอินซูลินถูกควบคุมด้วยรหัสพันธุกรรมที่อยู่ในยีน CYP1A2 ซึ่งเป็นตัวควบคุมการขับถ่ายสลายของคาเฟอีนในตับ 
งานวิจัยใหม่ที่สรุปในบทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการของอังกฤษ (British journal of nutrition) เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา และทำการศึกษาในชายและหญิงที่สุขภาพดี 29 คน โดยการศึกษาแบ่งออกเป็นสามสภาวะในแบบแรกให้มีการนอนปกติและเมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

ต่อมาในแบบที่สองกำหนดให้มีการนอนแบบไม่ปกติ คือหลับๆ ตื่นๆ โดยมีการปลุกทุกชั่วโมงเป็นเวลา 5 นาที (โดยรวมแล้วเท่ากับ 80 นาที) แล้วตอนเช้าให้ดื่มเครื่องดื่มน้ำตาล และในแบบสุดท้ายให้มีการนอนแบบมีการทารุณกรรมตามข้างต้น แต่เช้าวันรุ่งขึ้นให้ดื่มกาแฟดำเข้มข้น และอีก 30 นาทีต่อมาตามด้วยเครื่องดื่มน้ำตาล โดยในแต่ละแบบมีการเจาะเลือดหลังจากที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไปแล้วซึ่งมีปริมาณแคลอรีเทียบเคียงกับอาหารเช้าตามปกติ

“ผลงานวิจัยปรากฏว่า การนอนแบบกระท่อนกระแท่นแบบถูกทารุณกรรมนั้น ไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการจัดการระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือด โดยผลที่ได้นั้นเหมือนกับการนอนอย่างมีความสุข”

ในทางกลับกัน “การดื่มกาแฟดำเข้มข้นก่อนอาหารเช้ากลับพบว่าทำให้ระบบการจัดการน้ำตาลและอินซูลินรวนเรและมีระดับเพิ่มขึ้นประมาณ 50%” คณะผู้ทำงานวิจัยได้ทำการวิเคราะห์และสรุปให้ความเห็นว่าผลที่ได้นี้ไม่ได้คัดค้านว่ากาแฟไม่มีประโยชน์และผลต่อสุขภาพยังคงเป็นไปอย่างที่ได้รับทราบกันทั่วไป เพียงแต่ว่าถ้าจะทำให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุดในการดื่มกาแฟตอนเช้า หลังจากที่ในคืนก่อนหน้านั้นมีการนอนอย่างทุลักทุเล “ควรจะต้องดื่มหลังจากที่ทานอาหารเช้าไปแล้ว” ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะดื้ออินซูลิน และทำให้ระดับอินซูลินสูงเกินไปจากที่ควรจะเป็นและระดับน้ำตาลไม่สมดุล

“สรุปว่าเราก็ยังคงดื่มกาแฟดำ โดยถ้าจะใส่ครีมหรือน้ำตาลนิดหน่อยบ้าง ก็ยังคงทำได้ และยังคงดื่มอย่างมีความสุข หลังกินอาหารเช้า”

2. ดื่มกาแฟดำก่อนออกกำลังกาย 45 นาที ดีที่สุด
การวิจัยส่วนใหญ่แนะนำว่าเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรดื่มกาแฟก่อนออกกำลังกายประมาณ 45–60 นาที เพื่อให้คาเฟอีนดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด คาเฟอีนมีประสิทธิภาพสูงสำหรับการออกกำลังกายเมื่อบริโภคในปริมาณ 2-6 มก. ต่อกิโลกรัม ของน้ำหนักตัว

อย่างไรก็ตามยังมีข้อควรระวัง หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟชนิดพิเศษที่เติมน้ำเชื่อมและสารปรุงแต่งรส ซึ่งมักจะมีแคลอรีและน้ำตาลสูง เครื่องดื่มเหล่านี้ไม่เพียงขัดขวางเป้าหมายการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก แต่ยังย่อยยากอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงต่างๆ ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนไม่เกิน 400 มก. ต่อวัน หรือกาแฟประมาณ 3-4 ถ้วย (710–945 มล.)

3. ดื่มกาแฟดำหลังมื้อเที่ยง 30–60 นาที ช่วยลดความอ้วนได้ผลลัพธ์ดีที่สุด 
การดื่มกาแฟเพื่อลดความอ้วน สามารถกินได้หลังจากมื้อเที่ยงประมาณ 30-60 นาที โดยคาเฟอีนในกาแฟจะเข้าไปช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายในช่วงเวลานี้ได้ดี นอกจากนี้การดื่มกาแฟในช่วงเวลา  09.30-11.30 น.โดยเฉพาะเวลาประมาณ 10.30 น. เป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดในร่างกายยังไม่ค่อยทำงาน คาเฟอีนจะกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวแต่ไม่เครียด

3.1 ดื่มกาแฟดำในปริมาณที่เหมาะสมช่วยลดน้ำหนัก
แม้ว่าคาเฟอีนในกาแฟดำจะมีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพและการลดน้ำหนัก แต่การดื่มกาแฟดำในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ แนะนำให้ดื่มกาแฟไม่เกิน 3-4 แก้วต่อวัน หรือปริมาณคาเฟอีนไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะจะส่งผลให้ความดันเลือดสูงขึ้น ทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย

3.2 เทคนิคดื่มกาแฟ ช่วยลดน้ำหนัก
หลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาล นม และสิ่งอื่นใดในกาแฟของคุณ แล้วคุณจะได้กาแฟดำที่ไม่มีแคลอรี คาเฟอีนและกรดคลอโรเจนิกในกาแฟดำช่วยเพิ่มการเผาผลาญ เร่งการลดน้ำหนัก หากเราใส่สารเพิ่มรสชาติให้กับกาแฟ จะเพิ่มแคลอรีที่ไม่จำเป็น ทำให้น้ำหนักลดลงช้าลง

หลีกเลี่ยงครีมเทียมและครีม อย่างที่รู้กันดีว่ากาแฟมีรสชาติดีขึ้นมากเมื่อเราใส่ครีมหรือครีมเทียมที่ไม่ใช่นม แต่การเพิ่มของอร่อยแบบนั้นยังเพิ่มไขมันและแคลอรีอีกด้วย เมื่อแคลอรีของกาแฟเพิ่มขึ้น มันก็ไม่ช่วยให้เราลดน้ำหนักได้อีกต่อไป

ดื่มกาแฟคู่อาหารเช้ากาแฟควรรวมอยู่ในอาหารเช้าตามการวิจัย คาเฟอีนในกาแฟสามารถกระตุ้นการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร แต่ถ้าเราดื่มกาแฟโดยไม่ทานอาหาร กรดส่วนเกินสามารถทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและเพิ่มระดับฮอร์โมนความเครียดได้

จำกัดการบริโภคไม่เกิน 2–3 ถ้วยปริมาณคาเฟอีนในกาแฟทำหน้าที่เป็นยาขับปัสสาวะอ่อน ๆ แต่นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การดื่มกาแฟลดน้ำหนัก มากเกินไปอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ดังนั้นควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนของคุณไว้ที่ 2-3 แก้วต่อวัน

ดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน การวิจัยกล่าวว่าปริมาณคาเฟอีนในกาแฟหนึ่งถ้วยสามารถทำให้คนตื่นได้นานถึง 6 ชั่วโมง สิ่งสำคัญคือต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนที่เหมาะสม การนอนหลับอย่างต่อเนื่อง 7 ชั่วโมงเป็นสิ่งสำคัญ คาเฟอีทำให้เราตื่นตัวได้นานถึง 6 ชั่วโมง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เราหลับ ดังนั้นควรดื่มกาแฟแก้วสุดท้ายก่อน 16.00 น. หรือถ้าใครเข้านอน 20.00 น. ก็ควรดื่มกาแฟแก้วสุดท้ายประมาณเที่ยงวัน

กาแฟดำกับวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อสุขภาพฟิต

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สำหรับผู้ที่ไม่ชอบดื่มกาแฟดำเพราะมีรสขม เปลี่ยนไปใช้สารให้ความหวานได้ ใช้ซูคราโลส ซึ่งมีรสชาติเหมือนน้ำตาล และมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 600 เท่า หรือเลือกใช้หญ้าหวานซึ่งมีรสช้ากว่าน้ำตาลเล็กน้อย แต่สามารถให้ความหวานได้มากกว่าถึง 300-450 เท่า ใช้ในปริมาณเล็กน้อยได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

นมอัลมอนด์ เพิ่มความอร่อย มีดีต่อสุขภาพ สำหรับใครที่ชอบรสชาติของกาแฟลดน้ำหนัก ไม่อยากใส่นม ลองเปลี่ยนมาใช้นมอัลมอนด์แทนนมวัวหรือครีมเทียมดูนะคะ นอกจากจะเพิ่มรสชาติให้กินนมอัลมอนด์ได้ง่ายขึ้นแล้ว นมอัลมอนด์เป็นนมที่มีแคลอรีต่ำ สำหรับคนอยากลดน้ำหนัก กาแฟแก้วนี้เหมาะมาก นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเครียด ปรับปรุงการทำงานของสมอง ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายไม่ว่าคุณจะทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง
 

เมนูกาแฟที่มาจากกาแฟดำมีอะไรบ้าง

Espresso (เอสเพรสโซ) มาจาก Caffè espresso ซึ่งแปลตรงตัวได้ความหมายว่า “กาแฟที่ถูกดันออกมา” เป็นช็อตกาแฟ มาจากการทำกาแฟชนิดนี้ว่าใช้แรงดันจากน้ำที่กำลังเดือดให้พุ่งผ่านตัวกาแฟที่บดละเอียดอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนได้เป็นน้ำกาแฟดำชนิดเข้มข้นแท้ ๆ ที่ไม่ผสมอะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น 

Americano (อเมริกาโน่) คือการนำช็อตกาแฟที่ได้ 1-2 ช็อต แล้วน้ำร้อนลงไป ง่าย ๆ คือเอสเพรสโซมาเจือจางเพื่อให้ง่ายต่อการดื่ม สำหรับการดื่มแบบร้อน หรือเติมด้วยน้ำเปล่า ตามด้วยน้ำแข็ง ที่พร้อมเสิร์ฟแบบเย็น โดยจะไม่มีมีครีม่า เป็นเมนูกาแฟดำที่ดื่มง่าย ให้ความสดชื่น  

Long Black (ลองแบล็ค) เป็นเมนูที่มีต้นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย โดยขั้นตอนการทำคือ การนำน้ำร้อนใส่ในแก้วเสิร์ฟ แล้วจึงสกัดช็อตเอสเพรสโซ่ใส่ลงไปบนน้ำร้อน คล้ายคลึงกับอเมริกาโน่ แต่จะเป็นการนำถ้วยตวงที่มีน้ำร้อนอยู่แล้ว ไปรองช็อตกาแฟ ให้กาแฟไหลลงในถ้วยตวงนั่นเอง โดยจะมีครีม่าที่ชัดเจนด้านบน มีความเข้มข้นกว่าอเมริกาโน่ 

Lungo (ลุงโก) เป็นคำที่มาจาก “อิตาลี” ที่แปลว่า “ยาว” จึงมีความหมายตรงตัวที่ว่าจะใช้เวลาในการสกัดช็อตกาแฟที่นานกว่าเมนูอื่น ๆ โดยจะเป็นการสกัดช็อตกาแฟ แล้วให้น้ำกาแฟค่อย ๆ ไหลจนได้น้ำกาแฟ 3-4 ออนซ์ แล้วค่อยเติมน้ำร้อนลงไปเล็กน้อย จึงเป็นเมนูที่มีความขม เข้มข้น และให้รสฝาดเล็กน้อย

กินกาแฟดำให้เป็นกาแฟเพื่อสุขภาพควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟดำตอนท้องว่าง เพราะมีกรดที่อาจกัดกระเพาะได้
  • ไม่ควรดื่มกาแฟดำเกิน 4 แก้วต่อวัน หรือรับคาเฟอีนได้ไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟระหว่างออกกำลังกายและหลังออกกำลังกาย เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินจำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหลังเวลา 14.00 น. เพราะอาจทำให้นอนหลับยาก ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าต้องจำกัดการกินกาแฟหรือต้องงดดื่มกาแฟหรือไม่

อ้างอิง
[1] เส้นทางกาแฟจากพืชถึงเครื่องดื่มทางศาสนา 
[2] การดื่มกาแฟกับสุขภาพ โดย พิชานันท์ ลีแก้ว สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
[3] กาแฟเพื่อสุขภาพ โดย ชุษณา เมฆโหรา ฝ่ายโภชนาการและสุขภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
[4] กาแฟดำช่วยเผาผลาญได้จริงหรือไม่?
[5] Heart coffee Health
[6] 
Lopez-Garcia E, Rodriguez-Artalejo F, Rexrode KM, Logroscino G, Hu FB, van Dam RM. Coffee consumption and risk of stroke in women. Circulation. 2009;119:1116-23.
[7]  
de Koning Gans JM, Uiterwaal CS, van der Schouw YT, et al. Tea and coffee consumption and cardiovascular morbidity and mortality. Arterioscler Thromb Vasc Biol. 2010;30:1665-71.
[8ความสัมพันธ์ระหว่าง กาแฟ และโรคเบาหวาน
[9] Ding M, Bhupathiraju SN, Chen M, van Dam RM, Hu FB. Caffeinated and decaffeinated coffee consumption and risk of type 2 diabetes: a systematic review and a dose-response meta-analysis. Diabetes Care. 2014 Feb;37(2):569-86.
[10] 
Arab L. Epidemiologic evidence on coffee and cancer. Nutrition and Cancer, 2010. 62(3): p. 271-83.
[11] ป้องกันโรคตับ ด้วยกาแฟดำ
[12] "หมอดื้อ" เผยผลวิจัย "ตื่นปุ๊บดื่มกาแฟปั๊บ..หรือจะรอหลังอาหารเช้าดี"
บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ